1.ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ความสำคัญของศิลาจารึกหลักนี้เป็นโบราณวัตถุจารึกภาษาไทยหลักแรกที่พบในประเทศไทย โดยเนื้อความในศิลาจารึก จะบอกถึง หลักฐานเป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติ เล่าเรื่องต่างๆ และขนบธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย กล่าวถึง การสร้างพระแท่นมนังศิลา การสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัย และการประดิษฐ์อักษรไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
2.ธรรมจักร ความสำคัญ ธรรมจักรชิ้นนี้เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าเป็น พิเศษในทางศิลปประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เนื่องจากเป็นธรรมจักรชิ้นเดียวในประเทศไทยที่มีอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี เป็นคาถาในพระธรรมจักร จารึกอยู่ที่ดุมที่ 1 ดุมที่ 2 ที่กง และกำทั้ง 15 ซี่ อันเป็นหลักฐานให้ทราบว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้ามาในดินแดนอาณาจักรทวารวดี ลักษณะของพระธรรมจักรแสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะทวาราวดี ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะคุปตะของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
3.พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ความสำคัญ มีลักษณะสวยงามที่สุดในประเทศไทย ขนาดเท่าคนจริง พระพักตร์กลม พระขนงทำเป็นร่อง พระเนตรมองต่ำ พระโอษฐ์เต็ม ริมพระโอษฐ์ด้านล่างหนาและย้อยลงมา ส่วนองค์อยู่ในท่าตริภังค์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกับศิลปะชวา นับว่าเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าเป็นพิเศษในทางศิลปและประวัติศาสตร์ และมีเพียงองค์เดียวที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
4.พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความสำคัญ โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นประติมากรรมรูปเคารพ ที่เป็นรูปบุคคลมีลักษณะเป็นศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็น หลักฐานและมีคุณค่าเป็นพิเศษทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในประเทศไทยพบเพียงองค์เดียว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา
5.พระอิศวร ความสำคัญ เป็นประติมากรรมศิลปะไทยที่เลียนแบบศิลปะขอม มีลวดลายวิจิตรงดงาม รอบฐานด้านบนมีอักษรจารึกเป็นภาษาไทย ข้อความในจารึกกล่าวว่าเป็นศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นหลักฐานและมีคุณค่าเป็นพิเศษทางประวัติศาสตร์ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอิศวรองค์นี้ไว้ในเมืองกำแพงเพชร ตรงกับศักราช 1432 ปีมะเมีย (พ.ศ.2053) ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเรื่องราวที่สำคัญทาง ประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชรในสมัยนั้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
6.ตู้พระธรรม ความสำคัญ เป็นตู้ลายรดน้ำ ฐานสิงห์ มีลวดลายประณีตสวยงาม เป็นเลิศ ตู้พระธรรมหลังนี้เป็นฝีมือบรมครูวัดเซิงหวาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแบบฉบับการผูกลายกนกเปลว เครือเถามาตกแต่งประกอบกับลายกิ่งไม้ดอกไม้ อย่างวิจิตรตระการตา สวยงามที่สุดในสมัยอยุธยา มีคุณค่าเป็นพิเศษในทางศิลปะ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
7.ช้างทรงเครื่องพระคชาธาร ความสำคัญ ช้างทรงเครื่องชิ้นนี้เป็นโบราณวัตถุรูปช้างทรงเครื่องพระคชาธารที่ล้ำค่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จ พระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อันเป็นสิ่งยืนยันถึงความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยาในสมัยนั้น และนับได้ว่าเป็นงานฝีมือปราณีต วิจิตรงดงาม เป็นตัวอย่างของการศึกษาวิวัฒนาการของลวดลายและรูปแบบสัปคับช้างได้อีกด้วย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
8.พระเต้าทองคำ (สุวรรณภิงคาร) ความสำคัญ เป็นโบราณวัตถุที่มีความงามเป็นเลิศอย่างยิ่ง สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โดยฝีมือช่างสมัยอยุธยา มีคุณค่าเป็นพิเศษทางศิลปะและประวัติศาสตร์ และเป็นพระเต้าทองคำชิ้นเดียวที่พบในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตัวอย่างของการศึกษาลวดลายฝีมือช่างที่วิจิตรบรรจง โดยเฉพาะยอดเป็นรูปพรหมพักตร์ซึ่งคล้ายคลึงกับลวดลายของศิลปะขอม เป็นหลักฐานแสดงว่ามีความนิยม ในลัทธิพราหมณ์ในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาแล้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
9.พระแสงขรรค์ ความสำคัญ เป็นโบราณวัตถุล้ำค่าอย่างยิ่ง สร้างขึ้นในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โดยฝีมือช่างสมัยอยุธยา ฝักพระแสง
ขรรค์ทำด้วยทองคำ ประดับอัญมณีอย่างวิจิตรงดงาม มีคุณค่าเป็นพิเศษทางศิลปะและประวัติศาสตร์ และเป็นพระแสงขรรค์ชิ้นเดียวที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสาม พระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น