Blogger templates

6/08/2553

สมุดข่อย และคัมภีร์ใบลาน

สมุดข่อย


ที่มาของภาพ http://thrai.sci.ku.ac.th


           “…ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่าๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้นข่อย (Ton Coe) อีกด้วย ซึ่งต้องนำมาบดย่อยให้ละเอียด เช่นอย่างย่อยผ้าขี้ริ้ว แต่กระดาษเหล่านี้มีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ ทั้งเนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็หย่อนกว่าของเรา…” หนังสือราชอาณาจักรสยาม ของ มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์

           จากบันทึกข้างต้นของราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานที่แสดงว่าคนไทยโบราณรู้วิธีบันทึกข้อมูลความรู้ ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่างๆ ลงบนวัสดุที่เรียกว่า “สมุดข่อย” มานานแล้ว และทำใช้กันเรื่อยมาจนมาเสื่อมลงเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือเริ่มแพร่หลายในสังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

           สมุดข่อยหรือสมุดไทยมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนหนังสือที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันซึ่งเป็นรูปแบบที่รับจากชาติตะวันตก สมุดข่อยมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนตามแนวยาวของกระดาษ ตัวเล่มเป็นกระดาษยาวติดต่อเป็นแผ่นเดียวกันตลอดเล่ม โดยใช้วิธีพับกลับไปมาให้เป็นเล่ม จะทำยาวเท่าใดก็ได้ ไม่เย็บแผ่นกระดาษเป็นเล่มเหมือนหนังสือปัจจุบัน และไม่เปิดจากขวาไปซ้าย แต่เปิดจากด้านตัวผู้อ่านออกไป

           สมุดข่อยมี 2 แบบ คือ หน้ากระดาษสีขาว เรียกว่า สมุดขาว และหน้ากระดาษเป็นสีดำ เรียกว่า สมุดดำ วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง สมุดดำจะเขียนด้วยดินสอสีขาวที่ได้จากดินสอพอง หรือเปลือกหอยมุกบดผสมกาว ถ้าเป็นสมุดขาวจะเขียนด้วยสีดำหรือสีอื่นๆ สีดำได้จากเขม่าไฟ หรือหมึกจีน สีแดงที่ได้จากชาด สีทองได้จากทองคำเปลว สีเหลืองได้จากส่วนผสมของรง (ยางไม้) และหรดาล (หินแร่)

           นอกจากบันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว สมุดข่อยบางเล่ม โดยเฉพาะสมุดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ยังมีภาพจิตรกรรมประกอบอยู่ด้วย ความงดงามของภาพเขียนนี้นอกจากเพิ่มคุณค่าทางด้านสุนทรียศาสตร์แล้วยังสะท้อนคตินิยมในแต่ละยุคสมัยด้วย

เอาข่อยมาทำสมุด
           “สมุดข่อย” ทำมาจากเปลือกของต้นข่อย ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่พบมากในภาคกลาง ตามบริเวณป่าและริมแม่น้ำ การทำกระดาษด้วยข่อยจึงเป็นเทคนิคที่แพร่หลายในเขตภาคกลาง มีขั้นตอนการทำดังนี้
                1. นำต้นข่อยมาลอกเอาแต่เปลือก นำไปตากแดด แล้วแช่ทิ้งน้ำไว้ 3-4 วัน กระทั่งเปลือกข่อยเปื่อยยุ่ย
                2. เอาข่อยขึ้นจากน้ำ ฉีกเป็นฝอย ใส่ปูนขาวลงไปคลุกให้ทั่ว
                3. ใส่หม้อนึ่งให้สุก หรือจนยุ่ยพอที่จะปี้ให้ละเอียดได้ แล้วหมักในน้ำปูนขาวอีก 1 วัน
                4. ใส่ตะกร้าล้างน้ำให้ขาว บีบให้แห้งสนิท ปั้นเป็นก้อนตามขนาดที่ต้องการ
                5. นำก้อนข่อยมาละลายน้ำ แล้วเทลงแม่พิมพ์ซึ่งเป็นตะแกรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
                6. เกลี่ยหน้าตะแกรงให้เนื้อข่อยเสมอกัน แล้วยกไปตากแดด รอจนแห้งจึงลอกกระดาษข่อยออกจากตะแกรง
                7. หากต้องการทำสมุดขาว ทาด้วยแป้งเปียก ซึ่งได้จากแป้งข้าวเจ้าบดผสมน้ำปูนขาว แล้วเคี่ยวจนสุก หากต้องการทำสมุดดำ ใช้แป้งเปียกผสมเขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียด จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง นำแผ่นไม้ขนาดเท่าสมุดที่ต้องการมาทาบบนแผ่นกระดาษ แล้วพับกระดาษกลับไปกลับมาจนสุดแผ่นกระดาษ ก็จะได้สมุดข่อย




ที่มาของภาพ http://thrai.sci.ku.ac.th




คัมภีร์ใบลาน
           นอกจากสมุดข่อยแล้ว ใบลานเป็นอีกวัสดุหนึ่งที่คนไทยโบราณนำมาทำหนังสือ แต่ต่างกันตรงที่ใบลานนิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนามากกว่าเรื่องอื่น จึงเรียกกันทั่วไปว่า “คัมภีร์ใบลาน” ใช้เวลาเทศน์ เหตุที่เลือกใช้ใบลานเป็นวัสดุก็เพราะใบจากต้นลานมีคุณสมบัติที่เบาและบาง สามารถเก็บรักษา หรือเคลื่อนย้ายได้สะดวก ที่สำคัญคือคงทนถาวรมาก คัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของไทยคือ “ติงสนิบาตกุสราชชาดก” ซึ่งเป็นหนังสือธรรมล้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2014 อายุ 500 กว่าปี ก็ทำด้วยใบลาน

           การบันทึกลงบนหนังสือโบราณประเภทนี้ใช้วิธี “จาร” คือใช้เหล็กแหลมขีดเป็นลายลักษณ์อักษรบนใบลาน จากนั้นช่างจะทาเขม่าไฟ สีดำของเขม่าจะฝังอยู่ตามร่องที่จารไว้ ทำให้มองเห็นตัวหนังสือเด่นชัด จากนั้นร้อยใบลานแต่ละใบด้วยเชือก มัดรวมเป็นเล่ม เรียกว่า “ผูก” หลายๆ ผูกรวมกันเป็นหนึ่งคัมภีร์

           ปัจจุบันใบลานยังคงใช้ทำพระธรรมคัมภีร์ แต่มีการพัฒนาเทคนิคในการเขียน โดยเปลี่ยนจากการจารไปใช้วิธีพิมพ์แทน ขณะที่ช่างพื้นบ้านโดยเฉพาะช่างล้านนายังคงใช้วิธีดั่งเดิม เพราะถือว่าการได้สร้างพระธรรมคัมภีร์จากความเพียรจะได้อานิสงส์แรง

จากใบไม้มาเป็นคัมภีร์
           ลานเป็นไม้ยืนต้น ลักษณะคล้ายต้นตาล ขึ้นอยู่ทั่วไป สมัยก่อนมักปลูกตามวัด เพื่อสะดวกในการนำใบของต้นมาทำพระธรรมคัมภีร์ ซึ่งมีขั้นตอนการทำ ดังนี้
                1. คัดเลือกใบลานคุณภาพดีที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ตากแดดทิ้งไว้ราว 3 วัน
                2. ตัดใบลานให้ได้ขนาด ทั่วไปมีขนาดยาว 50- 70 ซม. กว้าง 4-8 ซม.
                3. ต้มใบลาน แล้วตากให้แห้ง เพื่อให้เนื้อลานเหนียว นิ่ม และมีสีขาวขึ้น
                4. นำใบลานมาเรียงซ้อนกัน แล้วตัดขอบให้เสมอ จากนั้นแทงใบลานให้เป็นรูสำหรับร้อยเชือก
                5. นำเข้าเตาอบเพื่อป้องกันรา
                6. ทำความสะอาด และขัดผิวใบลานให้เรียบด้วยลูกประคบ แล้วนำไปจาร



ที่มา www.ayutthayastudy.org
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...