Blogger templates

11/15/2554

ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จังหวัดกาญจนบุรี : สมัยก่อนประวัติศาสตร์

v ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์


จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่  ทำให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ที่มนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาเป็นเวลานานย้อนกลับไปจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์  เป็นยุคสมัยที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์และอพยพตามฝูงสัตว์  อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา  ต่อมาจึงพัฒนามาสู่การดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก  เลี้ยงสัตว์  เริ่มมีการตั้งหมู่บ้านบนที่ราบใกล้แหล่งน้ำซึ่งเหมาะแก่การเกษตรกรรม  ต่อมาจึงพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการนำโลหะมาใช้ประโยชน์  เกิดการรวมตัวของสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ก่อนหน้าที่จะมีการเขียนหรือจดบันทึก  การใช้ลายลักษณ์อักษรที่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้


ดร.แวน  ฮิกเกอเรน
(Dr. H.R. Van  Heekeren)



              การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มต้นขึ้นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) เมื่อกองทัพญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเพื่อลำเลียงยุทธโธปกรณ์จากไทยไปพม่าโดยใช้แรงงานเชลยศึกชาวอังกฤษ  ออสเตรเลีย ฮอลันดาและอเมริกาที่ถูกจับมาจากประเทศต่างๆ   ในบรรดาเชลยเหล่านั้นมีนักโบราณคดีชาวฮอลันดาชื่อ ดร.แวน  ฮิกเกอเรน (Dr. H.R. Van  Heekeren) ได้ถูกควบคุมตัวมาสร้างทางรถไฟที่เมืองกาญจนบุรี  ดร.แวน ฮิกเกอเรนได้พบเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์  เป็นเครื่องมือหินกรวดหน้าเดียวและขวานหินขัดทรงสี่เหลี่ยม  จึงได้เก็บซ่อนไว้  เมื่อสงครามสงบมีการนำเครื่องมือหินเหล่านี้ไปตรวจสอบที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี้  มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด  สหรัฐอเมริกา  จากการตรวจสอบของ ศ.ฮัลเลม เอช.โมเวียส จูเนียร์(Hallem H. Movius Jr.) พบว่าเครื่องมือหินกรวดเหล่านี้เป็นเครื่องมือหินเก่า  คล้ายกับที่พบที่สหพันธ์รัมลายา ประเทศอินโดนีเซีย  และประเทศจีน

หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการดำเนินการศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดกาญจนบุรีมาตลอด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการสำรวจและขุดค้นอย่างเป็นระบบของคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก ระหว่าง พ.ศ.2503-2505  นับว่าเป็นการดำเนินการทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบครั้งแรกในประเทศไทย  จากนั้นก็มีการสำรวจ  ขุดค้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมาโดยตลอด   แหล่งโบราณคดีบางแห่งพบมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายยุคหลายสมัย  หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดกาญจนบุรีสามารถจำแนกเป็นยุคสมัยได้ดังนี้

ยุคหินเก่า(Palaeolithic age)       มีอายุระหว่าง 500000- 10000 ปีมาแล้ว  มนุษย์ในสมัยนี้จัดเป็นสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์  เร่ร่อนตามฝูงสัตว์  ไม่มีถิ่นแน่นอน พบหลักฐานการอยู่อาศัยการดำรงชีวิตอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผาและที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่  หลักฐานที่พบได้แก่เครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียว  โดยพบในเขตตำบลบ้านเก่า  อำเภอเมือง  ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ  ตำบลไทรโยค  อำเภอไทรโยค  ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์
ยุคหินกลาง(Mesolithic age)       มีอายุระหว่าง 10000-6000 ปีมาแล้ว พบหลักฐานเป็นเครื่องหินกะเทาะ ที่มีลักษณะของกลุ่มวัฒนธรรมโหบินเนียน  ซึ่งพบครั้แรกที่เมืองโหบินน์ ประเทศเวียดนาม  นอกจากเครื่องมือหินกะเทาะแล้วยังพบภาชนะดินเผาแบบธรรมดา  โครงกระดูกมนุษย์  กระดูกสัตว์  นอกจากนี้ยังพบประเพณีการฝังศพโดยใส่เครื่องมือ  เครื่องใช้ฝังร่วมกับศพ พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำพระ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยคและถ้ำทะลุ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง



ยุคหินใหม่(Neolithic age)         มีอายุระหว่าง 6000-4000 ปีมาแล้ว เป็นยุคสมัยที่มนุษย์มีพัฒนาการทางสังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยีไปมาก  หลักฐานทางโบราณคดีที่พบมากได้แก่  เครื่องหินขัด ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ  ซึ่งที่โดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์ก็คือ ภาชนะดินเผาทรงหม้อสามขา ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เครื่องประดับ(ลูกปัด กำไล) โครงกระดูกมนุษย์  กระดูกสัตว์  หลักฐานต่างๆ ที่พบแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในยุคนี้มีการเพาะปลูก  เลี้ยงสัตว์ อาศัยอยู่ตามที่ราบใกล้แหล่งน้ำ  มีประเพณีการฝังศพโดยฝังนอนหงายเหยียดยาว มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ร่วมกับศพ  แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่พบอยู่มากมายในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า(นายบาง-นายลือ  เหลืองแดง) ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง  แหล่งโบราณคดีถ้ำสุธรรม ต.ท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ  แหล่งโบราณคดีบ้านท่ามะเดื่อ ต.ปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ  ถ้ำผาแดงต.ด่านแม่แฉลบ  อำเภอศรีสวัสดิ์ เป็นต้น

 



รูปโบราณวัตถุลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนและหินอาร์เกตและหินคาร์เนเลี่ยนรูปสิงห์ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร




ยุคโลหะ(Metal age)                 ในยุคนี้มนุษย์มีการทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยโลหะคือสำริดและเหล็กแล้ว หลักฐานที่พบแสดงได้เห็นการติดต่อความสัมพันธ์กับอินเดีย แหล่งโบราณคดีที่พบหลักฐานแสดงถึงการติดต่อกับอินเดียคือ แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน โบราณวัตถุที่พบเช่น ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริดหล่อเนื้อบางพิเศษ มีรูปลวดลายต่างๆ เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับ เช่น กำไลสำริด ตุ้มหู แหวนและลูกปัดสีต่างๆ นอกจากนี้ยังพบหลุมฝังศพแสดงให้เห็นประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 การทุบทำลายข้าวของเครื่องใช้เพื่อฝังร่วมกับศพ



นอกจากนี้ที่ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ ยังพบกลองมโหระทึกสำริด คล้ายกับที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน ของเวียดนาม  หลักฐานต่างๆ ที่พบในถ้ำแห่งนี้ยังแสดงให้เห็นการใช้พื้นที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลางและหินใหม่ จนถึงยุคโลหะ เช่น การฝังศพ เครื่องมือหิน ลูกปัดหินและภาชนะดินเผาสีดำ




ถ้ำรูปเขาเขียว ตำบลวังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี                ภาพเขียนสีภายในถ้ำ ผนังทิศเหนือ




ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรียังพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกหลายแห่งกำหนดอายุ ระหว่าง 4000-2000 ปีมาแล้ว เช่นที่ถ้ำรูป ต.วังกระแจะ อำเภอไทรโยค  ถ้ำผาแดง ต.ด่านแฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ ถ้ำตาด้วง ต.ช่องสะเดา อำเภอเมืองกาญจนบุรี

ต่อมากาญจนบุรีมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  จากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา  ก็พัฒนามาเป็นสังคมหรือชุมชนตามพื้นที่ราบริมน้ำ  มีการขยับขยายชุมชน มีการติดต่อกับชุมชนต่างดินแดน  จากชุมชนเล็กๆ จึงค่อยๆ กลายเป็นเมืองที่มีพัฒนาการมากว่า 1000 ปีมาแล้ว  มีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏอยู่ที่ปราสาทเมืองสิงห์  แสดงให้เห็นอดีตอันเคยรุ่งเรืองของพื้นที่แห่งนี้ภายใต้อิทธิพลหรือการปกครองขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7(พ.ศ. 1400 – 1700)  และเมื่ออาณาจักรเสื่อมอำนาจลงสมัยกรุงศรีอยุธยา  ไทยก็เข้ามาปกครองดินแดนบริเวณนี้เรื่อยมา

1 ความคิดเห็น:

  1. panda555 สล็อต แจกเครดิตฟรี ความมุ่งมั่นที่จะให้คุณมีประสบการณ์การเล่นที่น่าทึ่งและไม่เหมือนใคร pg ด้วยเกมที่มีคุณภาพและความคลาสสิค รวมทั้งการแจกเครดิตฟรีและโปรโมชั่นที่น่าตื่นเต้น

    ตอบลบ

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...