Blogger templates

2/25/2554

สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในจังหวัดสระบุีรี



สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ห่างจากจังหวัดสระบุรีประมาณ  28  กิโลเมตร  
พระมณฑป 
สร้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรม  เดิมเป็นมณฑปยอดเดียว  ได้รับการเปลี่ยนเครื่องบน แปลงให้เป็นพระมณฑป  5  ยอดในสมัยพระเจ้าเสือ ภายในเป็น มณฑปน้อย  เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท  สร้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรม  แต่เดิมมีทองคำหุ้มอยู่  ต่อมาถูกพวกจีนซึ่งอาสา ต่อสู้กับพม่าลอกเอาทองคำไป รัชกาลที่ 1 ได้ทรงปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.. 2330  และได้รับการปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ 3  และรัชกาลที่   4
พิพิธภัณฑ์สถานพระพุทธบาท
ในบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารได้มีพิพิธภัณฑ์สถานพระพุทธบาท  เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่ายิ่ง  อาทิเช่น  เครื่องทรงของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม   เครื่องลายครามสังคโลก  เครื่องทองสำริดโบราณ   ศาสตราวุธโบราณ  รอยพระพุทธบาทจำลองยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่า  พัดยศของพระสมัยต่างๆ   และท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
บ่อพรานล้างเนื้อ 
ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงวัดพระพุทธบาท มีลักษณะเป็นบ่อหินขนาดย่อม ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงก่อเสริมปากบ่อขึ้นที่บริเวณปากบ่อมีรอยเข่าคน  ใกล้บริเวณบ่อนี้มีหินลาดและมีหลุมลึกลงไปมีขนาดเท่ากระป๋องนม  น้ำที่ไหลจากหลุมนี้ถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีประวัติเล่ากันว่าพรานบุญผู้พบรอยพระพุทธบาทเป็นผู้นำเนื้อมาล้างที่บ่อ   โดยคุกเข่าและก้มลงล้างเนื้อในบ่อ  ส่วนหลุมขนาดเท่ากระป๋องนมนั้น  คือรอยปักหอกของพรานบุญซึ่งมีน้ำไหลออกมาไม่ขาดสาย

พระราชวังโบราณ (พระตำหนักท้ายพิกุล) 
พระราชวังโบราณหรือตำหนักท้ายพิกุล  ตั้งอยู่ติดกำแพงวัดพระพุทธบาทด้านทิศเหนือ   พระราชวังนี้พระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างพร้อมกับบริเวณวัดพระพุทธบาท เพื่อเป็นที่ประทับเวลาเสด็จขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท  ได้ชำรุดทรุดโทรมหักพังไปหมด เหลือเพียงกำแพงวังและฐานพระตำหนัก  ฐานเกยช้าง ม้า ต่อมาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระตำหนักทับบนฐานเดิม ปัจจุบันไม่มีซากตำหนักเหลือปรากฏอยู่ คงมีแต่ซากกำแพงเป็นเขตอยู่โดยรอบและที่เกยช้าง
พระตำหนักธารเกษม 
ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน  อำเภอพระพุทธบาท (ในพื้นที่ของสถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดสระบุรี) เป็นตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯ ให้สร้างเป็นที่ประทับเมื่อคราวเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาท ณ ริมธารน้ำใต้ธารทองแดง   ซึ่งเป็นที่มีแมกไม้ร่มรื่นเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย   เวลานี้หักพังหมดแล้วคงเหลือแต่อิฐและปูนปรากฏให้เห็น 
พระตำหนักสระยอ 
ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน  อำเภอพระพุทธบาท  ซึ่งพระเจ้าปราสาททอง โปรดฯ ให้สร้างพลับพลาตามเส้นทางที่เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ลักษณะฐานรากของตำหนักเป็นก้อนหินนำมาก่อเสาปูนลักษณะเหมือนกับตำหนักต่างๆ ในบริเวณอำเภอพระพุทธบาท  ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย  เช่น ตำหนักธารเกษม เป็นต้น
ถ้ำเทพนิมิตธารทองแดง 
อยู่ที่วัดพุคำบรรพต ตำบลพุคำจาน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบโบราณวัตถุของมนุษย์สมัยหินใหม่ตอนปลาย มีลักษณะคล้ายกับที่ขุดพบที่บ้านท่าแค บ้านดีลัง และซับจำปา ที่ลพบุรี สันนิษฐานว่ามนุษย์สมัยนั้นในบริเวณดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กัน ปัจจุบันไม่มีโบราณวัตถุอยู่ในถ้ำแล้ว

ธารทองแดง 
เป็นธารน้ำธรรมชาติอยู่ห่างจากอำเภอพระพุทธบาทประมาณ  3  กิโลเมตร  ต้นธารเกิดจากเขาธารทองแดงในเขตอำเภอพระพุทธบาทและไหลลงไปทาง อ.หนองโดน  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  โปรดฯ  ให้สร้างพระตำหนักริมลำธาร[1] ได้มีการขุดพบท่อน้ำสามตาที่ริมลำธาร (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานพระพุทธบาท) ท่อนี้เป็นข้อต่อเหมือนท่อประปาปัจจุบันแต่ใหญ่กว่ามาก เป็นท่อที่ทำด้วยทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  20  ซม. และในบริเวณธารทองแดงนี้ยังพบที่กั้นน้ำ  ที่ระบายน้ำมาใช้ภายในพระตำหนักท้ายพิกุล เป็นเขื่อนก่อด้วยอิฐถือปูน ซึ่งเป็นซากโบราณสถานที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยา   ปัจจุบันนี้ยังเห็นสภาพเป็นลำธารแต่ตื้นเขินมากแล้ว ที่ริมลำธารมีแนวเขื่อนก่ออิฐถือปูนปรากฏอยู่[2]

ถ้ำศรีวิไล
 ภายในถ้ำมีพระพุทธเนาวรัตน์ ศิลปะสร้างเลียนแบบสมัยเชียงแสน และยังมีหินงอก หินย้อย สวยงามมาก และสามารถเที่ยวชมทิวทัศน์ตามธรรมชาติ จะเห็นภูเขาสลับซับซ้อนสวยงาม ตั้งอยู่บริเวณวัดถ้ำศรีวิไล ตำบลหน้าพระลาน ระยะทางห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 22 กิโลเมตร


[1] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา,พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1-2 , ( พระนคร :  โอเดียนสโตร์), 2495
[2] หนังสือที่ระลึกพิธีถวายพระกฐินพระราชทาน  วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร   จังหวัดสระบุรี





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...