Blogger templates

2/25/2554

สระบุรีสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์
พ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้กรมหมื่นเทพหริรักษ์ และพระยายมราชนำทัพไปตีพม่าให้ออกจากเมืองเชียงแสน พม่าแพ้ท่านให้เผาเมืองเชียงแสน รวบรวมผู้คนเชียงแสนได้ 23,000 คน แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนหนึ่ง ให้อยู่เชียงใหม่ ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ลำปาง ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่น่าน ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่เวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งให้นำมาใต้ โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สระบุรี และราชบุรี สระบุรีจึงมีชาวไทยวน (ชาวไทยที่มาจากเชียงแสน) อยู่สืบทอดขยายประชากรไปทุกอำเภอ (เว้นอ.ดอนพุด และ อ.หนองโดน) และขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น ที่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อ.วังน้ำเย็น    จ.สระแก้ว มาจนทุกวันนี้ 
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเหตุการณ์ เกิดขึ้นกับเมืองสระบุรี อันสืบเนื่องมาจาก พ.ศ.2322 ได้นำพระราชวงศ์ลาวมาอยู่ไทยนั้น มีพระโอรสของพร ะเจ้าสิริบุญสาร 4 พระองค์ คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทรวงศ์ เจ้าอนุวงศ์และ เจ้าพรหมวงศ์ มีพระธิดา 1 พระองค์ คือเจ้าหญิง เขียวค้อม (พระนางแก้วฟ้า) สำหรับพระเจ้าพรหมวงศ์มิได้นำมาไทย เมื่อพระเจ้าสิริบุญสารสวรรคตพระมหากษัตริย์ไทยก็ส่งพระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารกลับไปครองเวียงจันทน์ตามลำดับ จนพ.ศ.2347 เจ้าอนุวงศ์ก็ไปครองนครเวียงจันทน์
สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2400 ได้โปรดฯ ให้บูรณะพระมณฑปพระพุทธบาทและที่ประทับใหม่หลายหลังในพระราชวังท้ายพิกุล ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ครั้งนี้เป็นเงิน 441 ชั่ง 4 ตำลึง 3 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง ต่อมาพ.ศ.2403 พระองค์เสด็จมานมัสการพระพุทธบาทอีก ทรงยกยอดพระมณฑปและทรงบรรจุพระบรมธาตุ และได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉาย แล้วเสด็จประทับที่วัดเขาแก้ว (ปัจจุบันคือวัดเขาแก้ววรวิหาร ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี)
พ.ศ.2402-2404 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างที่ประทับที่ตำบลสีทา (ปัจจุบันคือ หมู่ที่ 8 ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และจัดให้เขาคอกเป็นที่ฝึกทหาร
การสร้างพระตำหนักที่บ้านสีทานี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับฝรั่งมีกงสุลต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นเมื่อไทยกับฝรั่งยังไม่คุ้นกัน ถ้าเกิดโต้เถียงกัน พวกกงสุลมักขู่ว่า จะเรียกเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รำคาญพระราชหฤทัย ทรงพระดำริตั้งเมืองลพบุรีเป็นราชธานีสำรองเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์แต่มีความเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ควรตั้งที่เมืองนครราชสีมา จึงโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปตรวจ แต่ทรงเห็นว่าเมืองนครราชสีมากันดารน้ำนัก พระองค์โปรดที่เขาคอกในแขวงเมืองสระบุรี จึงคิดทำที่มั่นฝึกทหารที่เขาคอกนั้น และสร้างที่ประทับ ณ ตำบลบ้านสีทา ริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไม่ห่างจากเขาคอกนัก เขาคอกอยู่ที่บ้านท่าคล้อ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ลักษณะพิเศษของเขาคอกก็คือ มีภูเขาล้อมรอบเหมือนป้อมปราการ มีช่องทางเข้า-ออก แคบๆ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นช่อง ทางบก 1 แห่ง ถัดไปทางซ้ายราว 30 เมตร เป็นช่องทางน้ำ 1 แห่ง ภายในหุบเขาเป็นที่กว้าง มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่เศษ มีเนินดิน กำแพงหิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้เขาคอกเป็นที่ฝึกพลไว้ป้องกันอริราชศัตรู
สำหรับพระตำหนักสีทานั้น สร้างด้วยเครื่องไม้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้รื้อพระตำหนักลงมาสร้าง  วังพระราชทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่พระตำหนักสีทานี้ พระองค์ทรงคุ้นเคยกับชาวบ้านถิ่นนั้น ซึ่งเป็นไทลาว จนพระองค์ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็นพระองค์แล้วก็สำคัญว่าลาว พระองค์ได้ทรงสร้างวัดไว้วัดหนึ่งอยู่ใต้วัดสองคอนใต้ลงไป พระองค์ทรงเชิญพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาจากเวียงจันทน์ประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ต่อมาทั้งวัดและวังสีทาร้างชาวบ้านนำพระพุทธรูปนี้ไปประดิษฐานไว้ที่วัดสองคอนใต้ เมื่อหม่อมเจ้าพระองค์สังวรวรประสาธน์ (หม่อมเจ้าพระชัชวาล) เสด็จมาที่นี่ได้เชิญพระพุทธรูปนี้ไปที่กรุงเทพฯ พวกชาวบ้านเสียดายมาก ถึงกับร้องไห้ก็มี เมื่อหม่อมเจ้าสังวรวรประสาธน์ถึงแก่ชีพิตักษัยแล้ว จึงโปรดให้เชิญพระพุทธรูปนี้มาไว้ที่วัดสองคอนใต้ตามเดิม เป็นที่ปีติยินดีของชาวบ้านนี้มาก
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสระบุรีเกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 4 อีกอย่าง คือ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีมาแต่โบราณว่า เมื่อมีพระราชพิธีสำคัญจะมีการตักน้ำจากแม่น้ำสำคัญมาทำน้ำมุรธาภิเษกสรงในพระราชพิธี ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จตามลำน้ำป่าสักไปยังวังสีทา ได้ทรงหยุดพักที่ท่าน้ำบ้านท่าราบ และสรงน้ำที่หาดที่ราบเนื่องจากพื้นน้ำมีลักษณะเป็น วัง คือ น้ำนิ่งและลึก ใสเย็นกว่าบริเวณอื่น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก นับแต่นั้นมาถือว่าน้ำท่าราบเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทรงให้นำน้ำแหล่งนี้ไปทำอภิเษกในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลที่ 5 สืบมาจนปัจจุบัน รวมกับน้ำแหล่งอื่นเรียกว่า เบญจสุทธิคงคา คือ แม่น้ำบางปะกง (ตักที่บึงพระอาจารย์ จ.นครนายก) แม่น้ำป่าสัก (ตักที่บ้านท่าราบ ต.ต้นตาล               อ.เสาไห้ จ.สระบุรี) แม่น้ำเจ้าพระยา (ตักที่ ต.บางแก้ว จ.อ่างทอง) แม่น้ำราชบุรี (ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จ.สมุทรสาคร) แม่น้ำเพชรบุรี (ตักที่ ต.ท่าชัย จ.เพชรบุรี)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จมายังสระบุรีหลายครั้ง บางครั้งก็ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร.ไว้ ณ สถานที่ที่พระองค์เสด็จ เช่น ที่พระพุทธฉาย ถ้ำวัดพระโพธิสัตว์ ผาเสด็จพัก ถ้ำวิมานจักรี ถ้ำมหาสนุก ศิลาหน้าผาเขาขาด ครั้งที่เสด็จพระพุทธฉาย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ร.ศ.115 นั้นได้โปรดให้อาราธนาเจ้าอธิการลันวัดพระพุทธฉายเทศนามหาชาติคำลาวด้วย, ผาเสด็จ หรือ ผาเสด็จพัก อยู่ที่หมู่ ที่ 5 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย
นามเจ้าเมืองสระบุรีคนแรก  ไม่ปรากฏหลักฐาน  คงมีเพียงตำแหน่งบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองสระบุรี  ซึ่งปรากฏเด่นชัดในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช   เมื่อ พ.. 2125     ทราบแต่ว่ามีบรรดาศักดิ์เป็น   พระสระบุรีเท่านั้น โดยสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคนไทยภาคกลาง มีหน้าที่คุมรักษาฉางข้าวไว้ให้กองทัพหลวง ครั้งยกไปตีเขมร ซึ่งคงจะเป็นเพราะให้ชาวเมืองสระบุรีสมัยนั้นทำไร่ทำนาเก็บเกี่ยวไว้สำหรับงานสงคราม
จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3    เจ้าเมืองสระบุรีบรรดาศักดิ์เป็น  พระยาสุราราชวงศ์       ซึ่งตามพงศาวดาร  ว่าเป็นชนเผ่าลาวพุงดำซึ่งถูกเกณฑ์อพยพมาแต่ครั้ง  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก   (รัชกาลที่ 1)  พาทัพไปตีนครเวียงจันท์  (สมัยกรุงธนบุรี)  แล้วมาตั้งรกราก  ณ แขวงเมืองสระบุรี  ..2324 ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 4  ทางการมีการแต่งชื่อเจ้าเมืองใหม่  ดังนี้
เมืองพระพุทธบาท  (แก้วประศักดิ์ เมืองปุรันตปะ)   เดิมนามว่า ขุนอนันตคีรี ตั้งใหม่เป็นหลวง        สัจจภัญฑคิรี ศรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสีนพคูหาพนมโขลน

เมืองสระบุรี  เดิมนามว่า  ขุนสรบุรีปลัด  ตั้งใหม่เป็น   พระสยามลาวบดีปลัด  ตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5  (..2435)  มีการจัดรูปการปกครองใหม่เป็นเทศาภิบาล  โดยจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล  จังหวัด  อำเภอ  ตำบล  หมู่บ้าน  ลดหลั่นกันลงไป  เมืองสระบุรีขึ้นอยู่กับมณฑล  กรุงเก่า  มีการส่งข้าราชการมาปกครองแทนการตั้งเจ้าเมืองสำหรับที่ตั้งเมืองสระบุรีครั้งแรกไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนคงทราบแต่เพียงว่าตั้งอยู่ที่หัวจวนบริเวณบึงหนองโง้ง ใกล้วัดจันทบุรี ตำบลศาลารีลาว  ปัจจุบันคือ  ตำบลเมืองเก่า  อำเภอเสาไห้  มีพระยาสระบุรี (เลี้ยง)  เป็นเจ้าเมือง  ปี พ.. 2433 พระยาสระบุรี (เลี้ยง)  ถึงแก่กรรม  จ่าเริง  เป็นเจ้าเมืองแทน  ได้ย้ายศาลากลางเมืองสระบุรีไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมน้อย อ.เสาไห้  ( บ้านเรือนที่เจ้าเมืองสร้างอยู่อาศัย  คือ ศาลากลางเมือง )

จนถึงสมัยที่พระยาพิชัยรณรงค์สงครามเป็นเจ้าเมืองเห็นว่า  ตัวเมืองเดิมที่เสาไห้อยู่ห่างไกลจากทางรถไฟมาก  (รัชกาลที่ 5  ได้โปรดให้สร้างทางรถไฟ  สายตะวันออกเฉียงเหนือ  ขึ้นมาถึงเมืองสระบุรี  เมื่อ พ..2439)   ประกอบกับภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสมัยนั้น  ยากแก่การขยายเมืองในอนาคต  จึงได้สร้างศาลาขึ้นใหม่ ณ บริเวณตำบลปากเพรียว  การก่อสร้างเสร็จในสมัยเจ้าเมืองคนที่ 3  คือ  พระยาบุรีสราธิการ   (เป้า  จารุเสถียร)  ในปี  .. 2509  ก็ได้รื้อและสร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นแทน[1]




[1] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสระบุรี,โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2544



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...