การปกครอง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2435 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้วางระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แบ่งแยกหน้าที่การงานออกเป็น 12 กระทรวง โดยมีการก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลหัวเมืองต่าง ๆ นอกพระนครนั่นเอง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นได้ทรงปรับปรุงราชการกระทรวงมหาดไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกใน 2435 จำนวน 4 มณฑลด้วยกันคือ มณฑลพิษณุโลก ปราจีน อยุธยา และนครสวรรค์ได้เป็นผลสำเร็จ และจัดตั้งมณฑลอื่นตามมาเรื่อย ๆ ในช่วง พ.ศ. 2437 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวมหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในกระทรวงกลาโหมแต่เดิมให้ขึ้นอยู่กับกระทรงมหาดไทยทั้งหมด
จนถึง พ.ศ. 2458 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเจ้าอยู่หัว จึงมีมณฑลเทศาภิบาลทั่วพระราชอาณาจักร รวมทั้งสิ้นกว่า 20 มณฑล การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลนั้น คือรวมหัวเมืองตั้งแต่ 2 เมืองขึ้นไปให้มีความสะดวกในการบริหารจัดการปกครองและการตรวจตราได้ทั่วถึงตั้งเป็นมณฑล ตั้งผู้บัญชาการมณฑลเรียกว่า ข้าหลวงใหญ่หรือข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ดูแลแต่ละมณฑล นอกจากนี้ ยังทรงจัดระเบียบการปกครองท้องที่ โดยทรงแบ่งเขตการปกครองเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด [1]
เมืองสระบุรีได้ขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า มีเขตมณฑล 7 เมืองได้แก่ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหมบุรีและเมืองอินทบุรี โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกคือ พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ (ยศในขณะนั้น หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์) [1]
![]() |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ |
จนถึงสมัยที่พระยาพิชัยรณรงค์สงครามเป็นเจ้าเมืองเห็นว่า ตัวเมืองเดิมที่เสาไห้อยู่ห่างไกลจากทางรถไฟมาก (รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้สร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นมาถึงเมืองสระบุรี เมื่อ พ.ศ.2439) ประกอบกับภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสมัยนั้น ยากแก่การขยายเมืองในอนาคต จึงได้สร้างศาลาขึ้นใหม่ ณ บริเวณตำบลปากเพรียว การก่อสร้างเสร็จในสมัยเจ้าเมืองคนที่ 3 คือ พระยาบุรีสราธิการ (เป้า จารุเสถียร)
ในอดีตเมื่อเริ่มสร้างจังหวัด พ.ศ. 2458 อำเภอในจังหวัดสระบุรีมีจำนวน 5 อำเภอ ซึ่งได้ก่อตั้งและเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกทั้งสิ้นเป็น 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง หนองแซง เสาไห้ บ้านหมอ พระพุทธบาท หนองโดน แก่งคอย มวกเหล็ก วังม่วง วิหารแดง หนองแค ดอนพุด และเฉลิมพระเกียรติ
[1] ศิริพร สุเมธารัตน์ ,ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, โรงพิมพ์ ส.พันธ์เพ็ญ : สุรินทร์, 2549, หน้า 323.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น