Blogger templates

2/25/2554

สระบุรีสมัยกรุงละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาถึงสมัย อโยธยา

สมัยกรุงละโว้ (ลพบุรี)  ต่อมาถึงสมัย อโยธยา

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองโบราณและแนวชายฝั่งทะเลสมัยทวารวดี
มีเมืองขีดขิน  และเมืองอู่ตะเภา  อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสระบุรี ในปัจจุบัน






ยุควัฒนธรรมเขมร (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 18 ) นับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 15 จนกระทั่งถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ของประเทศไทย มีโบราณวัตถุสถานในแบบศิลปะเขมรจำนวนมากที่สร้างขึ้น ในจังหวัดสระบุรีเองก็ปรากฏร่องรอยของเมืองโบราณในยุควัฒนธรรมเขมร หรือที่นิยมเรียกว่าสมัยลพบุรีอยู่ที่ตำบลบางขโมด อำเภอบ้านหมอ ซึ่งโบราณวัตถุที่ค้นพบจากเมืองโบราณนี้ คือ ทวารบาลและรูปพระโพธิสัตว์ศิลา ก็ได้เก็บรักษาไว้ที่วิหารเล็กหลังมณฑปพระพุทธบาท

นอกจากนี้ตำนานพระพุทธบาทและคำให้การขุนโขลน ยังกล่าวอ้างถึงเมืองโบราณแห่งนี้อีกว่า ภายหลังที่พระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทแล้ว ทรงอุทิศที่ดินโยชน์หนึ่งโดยรอบพระพุทธบาท ถวายเป็นพุทธกัลปนาเก็บเป็นดอกผลใช้จ่ายดูแลรักษาพระพุทธบาท เนื้อที่กินไปถึงตำบลบ้านหมอด้วย จึงทรงขนานนามเมืองโบราณที่บ้านหมอว่า เมืองปรันตนะหรือเมืองขีดขิน[1]


ท้องที่อันเป็นเขตจังหวัดสระบุรีนี้  แต่โบราณครั้งเมื่อพวกขอมยังเป็นใหญ่ ในประเทศนี้  อยู่ในทางหลวงสายหนึ่ง  ซึ่งพวกขอมไปมาติดต่อกับราชธานีที่นครหลวง  (ซึ่งเรียกในภาษาขอมว่า นครธม)    ยังมีเทวสถาน   ซึ่งพวกขอมสร้างเป็นปรางค์หินไว้ตามที่ได้ตั้งเมือง ปรากฏอยู่เป็นระยะมา  คือ  ในเขตจังหวัด -ปราจีนบุรี  มีที่อำเภอวัฒนานครแห่งหนึ่ง  ที่ดงศรีมหาโพธิ์แห่งหนึ่งต่อมาถึงเขตจังหวัดนครนายก  มีที่ดงละครแห่งหนึ่ง  แล้วมามีที่บางโขมด  ทางขึ้นพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง  ต่อไปก็ถึงลพบุรี  ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลละโว้  ที่พวกขอมมาตั้งปกครอง  แต่ที่ใกล้ลำน้ำป่าสักซึ่งตั้งจังหวัดสระบุรี  หาปรากฏสิ่งสำคัญครั้งขอมอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพราะฉะนั้นเมืองสระบุรีเห็นจะเป็นเมืองตั้งขึ้นต่อเมื่อไทยได้ประเทศนี้จากขอมแล้ว  ข้อนี้สมด้วยเค้าเงื่อนในพงศาวดาร  ด้วยชื่อเมืองสระบุรีปรากฏในเรื่องพงศาวดารเป็นครั้งแรก  เมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช…”[2]



[1] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา,เที่ยวตามทางรถไฟ (พระนคร : โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์), 2509
[2] สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสระบุรี,วรรณกรรมพื้นบ้านสระบุรี (สระบุรี : 2525), หน้า 26

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...