สมัยกรุงศรีอยุธยา
“เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพมาล้อมพระนครศรีอยุธยา พระไชยเชษฐาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ยกกองทัพเมืองเวียงจันท์ลงมาช่วยไทย เดินกองทัพเลียบลำน้ำป่าสักลงมา พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชคุมกองทัพไปซุ่มดักทางอยู่ที่เมืองสระบุรี ตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตแตกกลับไป ดังนี้เป็นอันได้ความว่า เมืองสระบุรีตั้งมาก่อน พ.ศ.2112 แต่จะตั้งเมื่อใดข้อนี้ได้สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ คือเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชบิดาของสมเด็จพระมหินทราธิราชนั้น พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2091
ในสมัยนั้นมีเมืองป้อมปราการเป็นเขื่อนขันธ์กันราชธานีอยู่ทั้ง 4 ทิศ คือเมืองสุพรรณบุรีอยู่ทางตะวันตก เมืองลพบุรีอยู่ทางทิศเหนือ เมืองนครนายกอยู่ทางทิศตะวันออก และเมืองพระประแดงอยู่ทางทิศใต้ กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาทาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ข้างทิศตะวันตกกองทัพไทยจึงไปตั้งต่อสู้อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี รับข้าศึกไม่อยู่ต้องถอยเข้ามาเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่น จึงได้ชัยชนะ เป็นเหตุให้เห็นว่าเป็นเมืองที่ตั้งเป็นเขื่อนขันธ์กันพระนครนั้นไม่มีประโยชน์เช่นในอดีต ป้อมปราการที่สร้างไว้ ถ้าข้าศึกเอาเป็นที่มั่นสำหรับทำการสงครามแรมปี ตีพระนคร ก็จะกลับเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก จึงให้รื้อป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี และเมืองนครนายกเสียทั้ง 3 เมือง คงไว้แต่เมืองพระประแดง ซึ่งรักษาทางปากน้ำ
อีกข้อหนึ่งเห็นว่า ที่รวบรวมผู้คนในเวลาเกณฑ์ทัพยังมีน้อยแห่งนัก จึงได้ตั้งตัวเมืองเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเมือง สำหรับเป็นที่รวบรวมผู้คนเพื่อจะได้เรียกระดมมารักษาพระนครได้ทันท่วงที ในเวลาการสงครามมีมาอีก เมืองที่ตั้งใหม่ครั้งนั้นระบุชื่อไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่ทางทิศใต้กับทางทิศตะวันตก คือ เมืองนนทบุรี 1 เมืองสาครบุรี 1 (สมุทรสาคร) เมือง 1 และเมืองนครไชยศรีเมือง 1 แต่ทางทิศอื่นหาได้กล่าวไม่
เมืองสระบุรี (และเมืองฉะเชิงเทรา) เห็นจะตั้งขึ้นในคราวนี้นั่นเอง คือตั้งเมื่อราว พ.ศ. 2092 ก่อนปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเพียง 20 ปี เหล่าเมืองที่ตั้งครั้งนั้นเป็นแต่สำหรับรวบรวมผู้คนดังกล่าวมา จึงกำหนดแต่เขตแดนมิได้สร้างบริเวณเมือง ผู้รั้งตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็ชื่อว่าเมืองอยู่ตรงนั้น ไม่เหมือนเมืองที่ตั้งมาแต่ก่อน เช่น เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี เป็นต้น เมืองตั้งสำหรับรวบรวมคนเช่นว่ามานี้ มีอีกหลายเมือง พึ่งมาตั้งบริเวณเมืองประจำที่ทั่วกันต่อเมื่อ รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น