สมัยธนบุรี
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์เรื่อง “ ตำนานเมืองสระบุรี ” ไว้ตอนหนึ่งว่า “ ในครั้งกรุงธนบุรีนั้น มีศึกพม่ายกมาติดเมืองเวียงจันทน์อันเป็นราชธานีของกรุงศรีสัตนาคนะหุต พวกลาวชาวเวียงจันทน์พากนอพยพหนีพม่าลงมาทางเมืองนครราชสีมาเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดประทานอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองสระบุรี ” ข้อความนี้บอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลาวมาอยู่สระบุรี เพราะก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่ามีลาวมาอยู่สระบุรี
พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมอบให้พระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และพระยาสุรสีห์นำทัพไปตีนครเวียงจันทน์และยึดนครเวียงจันทน์ได้ ได้นำชาวลาวพร้อมทั้งพระแก้วมรกตและพระบางมาถึงเมืองสระบุรี เมื่อเดือน 4 ปีกุน เอกศก 1441 (พ.ศ.2322) คราวนั้นโปรดฯ ให้ลาวเวียง ลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ของลาวได้นำมายังกรุงธนบุรี ทรงชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี สำหรับพระบางนั้นได้คืนไปให้แก่ลาวเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2408 เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มีลาวมาอยู่ในเมืองสระบุรีเป็นครั้งที่สอง สืบเชื้อสายมาจนทุกวันนี้
ต่อมาเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโบก พระองค์ทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีของไทย ในการสร้างพระบรมมหาราชวังและเสาหลักเมืองครั้งนี้ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ได้มีพระบรมราชโองการไปยังเหนือหัวเมืองต่างๆ ให้ตัดไม้ที่มีลักษณะดีส่งไปยังกรุงเทพฯเพื่อคัดเลือกเป็นเสาหลักเมือง เมืองสระบุรีได้ตัดไม้ตะเคียนส่งไปยังกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก เสา (วิญญาณแม่ตะเคียนประจำเสา) เสียใจมากจึงลอยทวนกระแสน้ำมาตามลำน้ำป่าสัก หยุดลอยกลางลำน้ำเยื้องที่ว่าการอำเภอเสาไห้ทุกวันนี้ นางไม้ประจำเสาต้นนี้ได้ส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญให้ชาวบ้านได้ยินเสมอ แล้วจมลงใต้น้ำ ณ ที่ตรงนั้นชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านไผ่ล้อมน้อยว่าบ้านเสาไห้มาจนทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น