v
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
สมัยประวัติศาสตร์
กาญจนบุรีสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ.1781-1921)
ถึงแม้ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงจะไม่ได้กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรี จึงไม่ปรากฏบทบาททั้งทางด้านทหาร
การปกครองหรือการติดต่อค้าขายที่มีความสัมพันธ์กับสุโขทัย
แต่จากร่องรอยอิทธิพลขอมที่ปรากฏที่ปราสาทเมืองสิงห์สันนิษฐานว่าเมืองกาญจนบุรีนั้นเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งอันเป็นเส้นทางสัญจรของพ่อค้า
นักเดินทางก่อนที่จะเดินไปยังเมืองต่างๆ เช่น เมืองมะริด เมืองทวาย เป็นต้น
ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ ด่านบ้องตี้
ด่านบ้องตี้
(ถ่ายจากถนนบ้องตี้) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ด่านเจดีย์สามองค์
อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ดินแดนในประเทศไทยเมื่อพุทธศตวรรษที่
19-24 มีสภาพรัฐโบราณชัดเจนหลายแห่ง เช่น ล้านนา สุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา
เป็นต้น ในบรรดารัฐเหล่านี้กรุงศรีอยุธยามีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 1893 เมื่ออำนาจกรุงศรีอยุธยาแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่กาญจนบุรี
เมืองกาญจนบุรีและชุมชนหลายแห่งพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ตรี อมาตยกุล
(2511, หน้า 14) กล่าวว่า “ครั้นเมื่อพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว กาญจนบุรีก็เลยกลายเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาไป”
เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีของอาณาจักรไทย เมืองกาญจนบุรีก็กลายเป็นเมืองที่สำคัญขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์สงครามกับพม่า
หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในจังหวัดกาญจนบุรีปรากฏร่องรอยทั่วไปในจังหวัดกาญจนบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ
ชุมชนหลายแห่งมีการพัฒนาเป็นเมืองอย่างชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองหน้าด่านด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา
เจดีย์สามองค์
อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
เมืองหน้าด่านที่ตั้งของจังหวัดกาญจนบุรีเก่านี้
อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทยติดกับเขตแดนพม่าโดยมีภูเขาตะนาวศรีเป็นเส้นเขตแดน บริเวณเทือกเขาตะนาวศรีมีช่องทางข้ามไปมาระหว่างชาวไทย
พม่า ทวาย มอญและกะเหรี่ยง
มีเส้นทางที่เรียกว่า ด่าน อยู่ 2 แห่ง
คือด่านพระเจดีย์สามองค์
อยู่ชายแดนอำเภอสังขละบุรี
กับด่านบ้องตี้ อยู่ชายแดนอำเภอไทรโยค
เมื่อพม่ายกทัพหวังเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
ทัพของพม่าย่อมใช้เส้นทางที่ใกล้และสะดวก
เมื่อพม่าเคลื่อนทัพจากกรุงหงสาวดี
ต้องเดินทางผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์
ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใกล้และสะดวกที่สุด ผ่านอำเภอทองผาภูมิ
ข้ามแม่น้ำแควน้อยที่ผาอัน ผ่านไทรโยค(เก่า) ตัดเข้าแควใหญ่ที่ท่ากระดานเข้าเมืองกาญจนบุรีเก่าแล้วเดินทัพเข้าสุพรรณบุรี ก่อนเข้าตั้งทัพชานพระนครกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาก็ใช้เส้นทางเดียวกันนี้ในการเดินทัพสวนขึ้นไปตีพม่าหรือไล่ต้อนพม่ากลับไปยังดินแดนของตน
แผ่นดินเมืองกาญจนบุรีสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ทำสงครามกับพม่าทั้งสิ้น 24 ครั้ง มีอยู่ 17
ครั้งที่กองทัพไทยกับกองทัพพม่าทำการรบกันในพื้นที่เมืองกาญจนบุรี
หรือเดินทัพผ่านไปมาเพื่อทำสงครามต่อกันโดยมีครั้งที่สำคัญๆ ดังนี้
พ.ศ.
2031 สงครามคราวกองทัพไทยตีเมืองทวาย ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เมืองทวายซึ่งเป็นเมืองของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยได้แข็งเมืองเป็นขบถ พระองค์จึงจัดทัพไปตีทวายกลับคืนมา ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย” (กรมศิลปากร, 2515, หน้า 451) หมายความถึงว่า
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราชโอรสเสด็จทัพไปตีเมืองทวาย
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2515, หน้า 565) ทรงสันนิษฐานถึงเส้นทางสู่เมืองทวาย ว่า เส้นทางแรกเป็นเส้นทางจากเมืองไทรโยคผ่านด่านบ้องตี้เข้าเมืองตะนาวศรีแล้วเดินทางสู่เมืองทวาย
อีกเส้นทางหนึ่งเดินทางจากเมืองไทรโยคผ่านช่องเขาสูงสู่เมืองทวาย ซึ่งเป็นเส้นทางกันดารกว่าด่านบ้องตี้
เส้นทางเดินทัพไปตีเมืองทวาย พ.ศ. 2031 จึงน่าจะใช้เส้นทางใดเส้นทางหนึ่งที่กล่าวมา
พ.ศ.
2081 สงครามคราวกองทัพไทยตีเมืองเชียงกราน ในสมัยสมเด็จ-พระไชยราชาธิราช
ศึกสงครามครั้งแรกที่มีการใช้เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์คือ
เมื่อครั้งสมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพไปตีเมืองเชียงกราน
ซึ่งตั้งอยู่เหนือพระเจดีย์สามองค์ขึ้นไปในปีพ.ศ.2081 จากนั้นอีก 10 ปี คือ
พ.ศ.2091 พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ยกทัพขนาดใหญ่
มีกำลังพลมากกว่าแสนคนเดินทัพเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นครั้งแรก ข้อมูลในพระราชพงศาวดารระบุว่า
“เถิงเดือน 11 เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน”
(กรมศิลปากร, 2515, หน้า 454) หลังจากนั้นการเดินทัพของพม่าก็ใช้เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์นี้เป็นส่วนมาก
จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ.
2127 สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ
เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีการรบพุ่งหรือมีสงครามกับพม่าโดยตรง
เพียงแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้นำทัพครอบครัวไทย มอญ
รวมทั้งพระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม
จากเมืองแครงของพม่ากลับเข้ามากรุงศรีอยุธยา
ข้อมูลในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า
“แล้วออกจากเมืองหงสาจึ่งกวาดต้อนทั้งมอญและลาวไปทั้งพลเก่าและพลใหม่ได้เก้าพันแล้วจึ่งยกมาทางเมืองจิตองแล้วมาทางเมืองเมาะตะมะ
แล้วจึ่งมาถึงท่าข้ามน้ำพลัน จึ่งยกมาทางอัตรัน ครั้นถึงสมิแล้วก็รีบมาจนถึง พระเจดีย์สามองค์แล้วจึ่งยกมาคอยท่าอยู่ที่ซอยหน้าภูมิ”
เดิมแผนการเคลื่อนย้ายกำลังคนเป็นหมื่นๆ
รวมทั้งช้าง ม้า วัว
ควาย นั้นพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะเข้าทางด่านแม่ละเมา แต่ทราบว่ากองกำลังพม่ายังมีอยู่ที่กำแพงเพชร
จึงนำกำลังคนกลับเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์แทน
ทำให้ต้องเดินทางผ่านป่าผืนใหญ่ไม่อาจเดินทางผ่านได้ในวันเดียว จำต้องพักข้างแรมในป่า
ต่อมากรมป่าไม้จึงประกาศให้ป่าทุ่งใหญ่ที่พระองค์นำกำลังคนเดินทางผ่านมานั้น
เป็นป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พ.ศ. 2127 พม่าตีกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าหงสาวดีส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา
โดยประชุมทัพกันที่กำแพงเพชร ฝ่ายกรุงศรีอยุธยารู้การณ์ล่วงหน้าก็เตรียมการรักษาพระนครไว้อย่างดี
พระนเรศวรทรงต่อสู้อย่างเข้มแข็ง
ท้ายที่สุดกองทัพพม่าก็พ่ายแพ้กลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายังระบุว่า
“พระเจ้าหงสาให้พระสาวถีและพระยาพสิมยกพล ลงมายังกรุงพระนครและ ณ วันพุธขึ้น
2 ค่ำ เดือน 2 เพลาเที่ยงคืน แล้ว 2 นาฬิกา 9 บาท เสด็จพยุหยาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้นศึกหงสาแตกพ่ายหนี”
(กรมศิลปากร, 2515, หน้า 464)
พ.ศ. 2133 พระมหาอุปราชายกกองทัพตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก
พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงนองโปรดให้พระมหาอุปราชายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาผ่านทางด่านพระเจดีย์สามองค์
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดาซึ่งเสด็จสวรรคต
ทรงทราบว่าพม่ายกทัพมาจึงนำกำลังพลไปสกัดพม่าที่ลำน้ำท่าคอย เขตเมืองสุพรรณบุรี
พม่ายกทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรีไม่เห็นมีกองทัพไทยจึงยกทัพผ่านเข้ามา ฝ่ายไทยจึงแอบซุ่มโจมตีพม่าแตกพ่ายกลับไป
พระราชพงศาวดารระบุถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า
“วันอังคารแรม 2 ค่ำ เดือน 12 มหาอุปราชา ยกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมตำบลจรเข้สามพัน”
(กรมศิลปากร, 2515, หน้า 467)
พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชายกกองทัพตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
หรือสงครามยุทธหัตถี
พระเจ้าหงสาวดีไม่สามารถเอาชนะไทยได้ในการรบเมื่อคราว
พ.ศ. 2133 จึงให้พระมหาอุปราชากลับมาตีไทยอีกครั้ง
โดยยกกำลังเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เช่นเคย
ครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรได้ทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์
กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ข้อมูลในพระราชพงศาวดารระบุว่า
“ครั้งเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาเถิงแดนสุพรรณบุรีแต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ”
พ.ศ. 2206 พม่ายกกองทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าอังวะส่งกองทัพมาปราบมอญที่หนีเข้ามาพึ่งไทยเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี พม่ายกกำลังตามมา
สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระยาสีหราชเดโชไชยยกกำลังไปทางด่านแม่ละเมา ถ้าพม่าไม่ยกมาให้เลยมาช่วยทางเมืองกาญจนบุรีและโปรดให้พระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพสกัดทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
เมื่อทราบว่าทัพพม่ามาถึงไทรโยค กองทัพหลวงตั้งอยู่ท่าดินแดง
พระยาโกษาธิบดีจึงรีบยกกองทัพมาที่เมืองกาญจนบุรี แล้วให้กองทัพหน้าไปขัดตาทัพอยู่ที่ตำบลท่ากระดานและด่านกรามช้างริมแม่น้ำแควใหญ่
ฝ่ายกองทัพพระยาสีหราชทราบข่าวก็รีบยกทัพมาจากกำแพงเพชร เมื่อกองทัพพระยาโกษาธิบดีเข้าตีพม่าที่ไทรโยคแล้ว
พระยาสรหราชก็พากองทัพไปตีสกัดพม่าด้านหลังที่เมืองสังขละ
รบกันอยู่สามวัน พม่าจึงพ่ายแพ้กลับไป (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2515, หน้า
242-245)
พ.ศ. 2207 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพไป
ตีพม่า
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นกษัตริย์องค์เดียวที่โปรดให้กองทัพเข้าตีเมืองอังวะของพม่า โดยโปรดให้พระยาโกษาธิบดี(ขุนเหล็ก)
ยกกองทัพไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์เข้าตีพม่าทางเมืองเมาะตะมะ ตีหัวเมืองตามรายทางได้เมืองจิตตอง เมืองสิเรียม
เมืองร่างกุ้ง เมืองหงสาวดี เมืองแปรและเข้าล้อมเมืองพุกามแต่ก็ไม่สามารถเข้าเมืองได้ เพราะขาดเสบียงอาหารจึงจึงยกทัพถอยกลับ ไม่ได้เข้าตีเมืองอังวะตามที่ตั้งใจไว้ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2515, หน้า
248-252)
พ.ศ. 2310 สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2
ในการยกทัพเข้าตีไทยครั้งนี้พม่าได้เตรียมการ วางแผนต่างๆ มาอย่างดี
โดยยกทัพมาตีเชียงใหม่ตั้งแต่พ.ศ.2308 ได้เมืองเชียงใหม่ก็ไม่ยกทัพกลับ
พระเจ้ามังระจึงส่งกองทัพมาตีไทยทั้งสองทางคือให้เนเมียวสีหบดีคุมพลมาทางเชียงใหม่ ให้มังมหานรธายกทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เข้าตีกองทัพไทยที่เมืองกาญจนบุรี
แล้วค่อยๆ
เคลื่อนกำลังพลเข้ามาสมทบกับกองทัพของเนเมียวสีหบดีปิดล้อมพระนคร ถุงฤดูน้ำหลากก็ไม่ยกทัพกลับ แต่เคลื่อนกำลังพลไปตรงที่ดอนแล้วทำนาสะสมเสบียง
ระหว่างการปิดล้อมก็มีการรบพุ่งกับทหารไทยอู่เป็นระยะ จนวันก่อนสงกรานต์ปีพ.ศ. 2310
พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ ไทยจึงพ่ายแพ้แก่พม่า รวมระยะเวลาที่พม่าปิดล้อมพระนคร 1 ปี 2 เดือน (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2515, หน้า
339-371)
จะเห็นได้ว่าตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น
เมืองกาญจนบุรีมีบทบาทอย่างมากในฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน
เป็นเส้นทางเดินทัพทั้งกองทัพไทยและกองทัพพม่า อีกทั้งยังเป็นสมรภูมิสู้รบที่สำคัญอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น