Blogger templates

3/21/2554

เชื้อชาติ(ชนชาติ)กับดักทางความคิด ในกรณี “ ทวารวดี(ไม่)มีมอญ”



เชื้อชาติ(ชนชาติ)กับดักทางความคิด
ในกรณี “ ทวารวดี(ไม่)มีมอญ”


สุกัญญา เบาเนิด
          

ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันมานานเกี่ยวกับมอญในทวารวดี บ้างก็ว่ากลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมทวารวดีคือ “มอญ” เนื่องจากพบจารึกภาษามอญเป็นจำนวนมาก ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็แย้งว่าภาษามอญในจารึกเป็นภาษาทางศาสนาเช่นเดียวกับภาษาบาลี และสันสกฤต มิใช่ภาษาของคนพื้นถิ่น.....
ในช่วงสมัยทวารวดีระยะเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗ หรือประมาณ ๙๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ได้ค้นพบศิลาจารึกทั้งหมด ๙๘ หลัก จารึกส่วนมากเป็นภาษามอญ จำนวน ๔๓ หลัก รองลงมาเป็นภาษาบาลี ๒๘ หลัก และสันสกฤตจำนวน ๒๗ หลัก สำหรับเนื้อหาในคำจารึกนั้นภาษาบาลีจะจารึกคาถาในพุทธศาสนาเท่านั้น เช่น คาถาเยธมฺมา และคาถาพุทธอุทาน  ส่วนภาษามอญโบราณและภาษาสันสกฤตใช้ประกาศกิจกรรมการทำบุญ แต่ต่างกันตรงที่ภาษาสันสกฤตมักเป็นประกาศของกษัตริย์และชนชั้นสูง แต่ภาษามอญโบราณใช้กับชนชั้นสูงจนถึงคนสามัญ[๑]


การพบจารึกภาษามอญเป็นจำนวนมากจึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่าชนชาติมอญนั้นเป็นพลเมืองของอาณาจักรทวารวดี แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว และไม่เชื่อว่ากลุ่มคนที่ใช้ภาษามอญจะเป็นคนที่มีเชื้อชาติหรือชนชาติมอญ   โดยมีคำอธิบายว่าภาษามอญได้ถูกนำเข้ามาพร้อมกับภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งบันทึกเรื่องราวทางศาสนาผ่านเข้ามายังอาณาจักรมอญในประเทศพม่าก่อนแล้วจึงเข้ามายังทวารวดี กลุ่มชนที่อยู่ในอาณาจักรทวารวดีไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็แล้วแต่ย่อมจะยอมรับเอาศาสนาและภาษามอญ”ไว้ด้วย นั่นหมายความว่าผู้คนในทวารวดียังล้าหลังไม่สามารถคิดค้นตัวเขียนแทนเสียงของตนได้จึงต้องรับภาษามอญ ภาษาบาลี และสันสกฤตจากภายนอกทั้งหมด[๒]-เขมร (Mon –Khmer) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับตระกูลภาษามุณฑะ (Munda) ของเผ่ามองโกลอยด์สาขาหนึ่งที่อพยพมาจากแถบเทือกเขาหิมาลัยและอพยพเข้าไปในอินเดียบริเวณแคว้นพิหารและแคว้นอัสสัม และชนเผ่านี้เป็นบรรพบุรุษของชนชาติที่พูดภาษามุณฑะ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มภาษามอญ-เขมร คือ ชาวพิหาร ชาวยะไข่ ชาวอัสสัม และชนชาติในอิระวดีจนถึงแหลมทอง [๓] เมื่อกล่าวดังนี้ ภาษามอญโบราณในจารึก จึงเป็นภาษาของผู้คนในอินเดียตลอดจนผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ของมอญอย่างเดียว ดังนั้นกลุ่มคนที่ใช้ภาษามอญในทวารวดีนั้นจึงไม่ใช่คนมอญ ตลอดจนมีการวิเคราะห์ต่อมาว่า ภาษามอญโบราณนั้น จัดอยู่กลุ่มภาษามอญ

ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “มอญ” ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยหรือ ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ก็พยายามยึดโยงสำนึกของกลุ่มตนกับความเป็นรากเหง้าอันเก่าแก่ของ”ทวารวดี” เพื่อสร้างตัวตนบนพื้นที่ที่มีรัฐชาติสมัยใหม่กำกับอยู่โดยเฉพาะในดินแดนประเทศไทย ท้ายที่สุดแล้วอะไรอยู่เบื้องหลังของข้อโต้แย้งดังกล่าว และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อการค้นหาหรือการพิสูจน์ข้อเท็จจริง.....หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแค่เพียงการสร้างตัวตนของกลุ่มคนที่หลากหลายภายใต้คำว่า”คนไทย”เท่านั้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ แม้กระทั่ง คำว่า “ทวารวดี” ก็ยังคลุมเครือว่าจะเป็นชื่อของบ้านเมือง ชื่อของรูปแบบทางศิลปะ หรือ เป็นชื่อยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะเน้นความหมายไปที่ความเป็น “อาณาจักร” “แคว้น” หรือ “รัฐ” ซึ่งจะต้องติดตามมาด้วยเรื่อง พลเมือง ชนชั้น อาณาเขตและอำนาจทางการเมืองเหนือดินแดน ซึ่งเป็นกรอบคิดของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ครอบงำวิธีคิดที่ไม่อาจหลุดพ้นความรู้สึก“ชาตินิยม”และ“เผ่าพันธุ์นิยม” ที่มีในมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาร่วมทั้งนักวิชาการทั้งหลายได้และส่งผลให้เกิดการวิเคราะห์ แปลความหมาย และสร้างภาพทวารวดีในอดีตที่พยายามจะปฏิเสธและสร้างความเป็นอื่นให้กับสิ่งที่ไม่ใช่องค์ประกอบของรัฐชาติปัจจุบันที่ทับซ้อนอยู่เหนือดินแดนทวารวดีในอดีต

รัฐชาตินั้นเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมความรู้สึกว่าคนในชาติเดียวกันเป็นคนเชื้อสายเดียวกันเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว และพยายามขจัด กีดกัน กดทับสำนึกทางชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อสร้างสำนึกระดับชาติขึ้น ดังประโยคที่ว่า “ ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ทั้งๆที่ประเทศไทย หรือความเป็นไทยกอปรขึ้นด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งมอญ เขมร จีน ลาว แขก ฯลฯ อิทธิพลรัฐชาติสมัยใหม่ทำให้ความหลากหลายของกลุ่มชน ต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกันคือ ทุกเผ่าพันธุ์ต้องมีชาติเชื้อเดียวกัน และแน่นอนว่าประวัติศาสตร์ของทวารวดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ไทยด้วยแล้วพลเมืองรัฐทวารวดีจะเป็นเชื้อชาติหรือชนชาติอื่นไม่ได้!!!
 “เชื้อชาติหรือชนชาติ “ จึงเป็นกับดักทางความคิดก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมจนกีดกันชนชาติอื่นให้ออกไปจากประวัติศาสตร์ของคนไทย
        
ภาษามอญสะท้อนเชื้อชาติ(ชนชาติ).....หรือ ชาติพันธุ์???
ภาษานั้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติหรือชนชาติแต่อย่างใด เพราะเชื้อชาติ หรือ ชนชาติ (race) นั้นมีความหมายเป็นหน่วยทางพันธุกรรม ชีวภาพ และกายภาพ ดังนั้นความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงไม่เกี่ยวกับความแตกต่างทางชนชาติ[๔] ดังนั้นหากภาษามิได้กำหนดเชื้อชาติ หรือ ชนชาติแล้วภาษาบ่งบอกถึงอะไร

กล่าวคือ ภาษาเป็นหน่วยทางวัฒนธรรมในบรรดาองค์ประกอบอื่นๆที่กำหนดหรือจำแนกกลุ่มคน ที่เรียกว่า “กลุ่มชาติพันธุ์”นอกจากภาษา และลักษณะทางวัฒนธรรมอื่นๆ แล้วยังมีจิตสำนึกว่าเขาคือใคร สำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ และ ความทรงจำของการบรรพบุรุษร่วมกัน [๕] ทวารวดีมีจิตสำนึกและเรียกตัวของว่าอย่างไร เป็นพวกเดียวกันหรือต่างพวกกับใคร   แต่ถึงกระนั้นจารึกภาษามอญโบราณที่พบคือวัฒนธรรมที่ถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายโดยถูกกำหนดให้เป็นสื่อกลางในการทำความเข้าใจกันระหว่างกลุ่มคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ภายใต้ “วัฒนธรรมแบบทวารวดี” และหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายนั้นจะต้องมี กลุ่มชาติพันธุ์มอญรวมอยู่ด้วย   ในอดีตเราคงจำแนกอย่างยากลำบากและไม่มีทางล่วงรู้เลยว่าผู้คนใน

ถ้าหากเป็นดังนี้แล้ว จึงเกิดคำถามต่อว่ากลุ่มคนที่ใช้ภาษามอญโบราณนั้นมีสำนึกอย่างเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษามอญในปัจจุบันหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้รับอธิบายจากนักวิชาการโดยยอมรับว่ามีกลุ่มคนที่ใช้ภาษามอญ-เขมรโบราณในดินแดนประเทศไทยเป็นกลุ่มคนพื้นถิ่นตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม แต่เป็นคนละพวกกับคนที่ใช้ภาษามอญในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าการสร้างสำนึกของความเป็นชาติพันธุ์มอญ (ethnicity) นั้นเพิ่งเกิดในสมัยหลัง ในช่วงการเจริญขึ้นบ้านเมืองของชาวมอญได้แก่ เมืองสะเทิมและเมืองหงสาวดีทางตอนใต้ของในประเทศพม่า [๖]  ซึ่งก็หมายความว่าคนที่ใช้ภาษามอญในทวารวดีไม่ใช่คนมอญนั่นเอง

ในเรื่องนี้ผู้เขียนมีความคิดเห็นที่ต่างออกไป หากมองในมิติทางชาติพันธุ์ผ่านข้อความในจารึกวัดโพธิ์ร้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งเป็นจารึกภาษามอญโบราณอักษรปัลลวะที่เก่าที่สุด ความว่า
“บริเวณอารามที่มีเนื้อที่ดิน จำนวน ๑๗๐ มีแนวต้นมะพร้าวเป็นเครื่องหมายเขตของอาราม พร้อมด้วยเสาหงส์ ๑ ต้น ภาชนะอาบเงิน พระพุทธรูป และวิหาร ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของโต้งทั้งสอง” [๗]
ในจารึกได้ระบุถึง “โต้ง” เป็นคำภาษามอญซึ่งหมายถึงเจ้าพิธี หรือ ผู้อำนวยพิธี ซึ่งนักแปลและอ่านจารึกมักจะใช้คำว่าคนทรงเจ้า หรือ คนเข้าผี [๘] (โต้งทำหน้าที่เพียง “ผู้จัดการ”เท่านั้นมิได้ให้ผีเข้าร่าง) สิ่งที่สะท้อนผ่านคำว่า”โต้ง” ก็คือระบบความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผี ซึ่งหมายถึงผีบรรพบุรุษโคตรตระกูล ผีบ้านผีเรือน พิธีกรรมที่มีโต้งเข้ามาเกี่ยวข้องคือพิธีรำผีมอญ เป็นสัญลักษณ์ในการดำรงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่เก่าแก่ เป็นการให้ความสำคัญกับอดีตและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนที่แฝงอยู่ในความเชื่อต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษที่คอยปกปักษ์รักษาชุมชน[๙]“โต้ง” จึงเป็นความทรงจำที่คนมอญมีร่วมกัน การปรากฏคำว่า “โต้ง"ในจารึกภาษามอญโบราณอายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มคนที่ใช้ภาษามอญโบราณในสมัยทวารวดีได้มีการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์เกิดขึ้นแล้ว และได้ส่งผ่านความทรงจำร่วมกันนี้จากรุ่นสู่รุ่น จากกลุ่มชาติพันธุ์มอญในอดีตถึงกลุ่มชาติพันธุ์คนมอญในปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษจึงยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งควบคู่กับการนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดของชาวมอญ ”โต้ง”ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทหน้าที่ในพิธีรำผีมอญของคนมอญในประเทศไทย และประเทศพม่าตราบเท่าทุกวันนี้ และครอบครัว

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงได้ข้อสรุปว่า”ทวารวดี”ในช่วงระยะเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗ นั้นไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของมอญได้ ด้วยวัฒนธรรมทางภาษาที่แสดงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญอย่างเด่นชัด รวมทั้งระบบความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับบรรพบุรุษและความเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดด้วยล้วนปรากฏเป็นข้อความในจารึกทั้งสิ้น เหล่านี้คืออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่ดำรงอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบันท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในลักษณะพหุสังคม และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประวัติศาสตร์ของรัฐชาติไทยได้ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพราะกว่าจะมาเป็นคนไทยนั้นจะต้องผ่านกระบวนการคัดสรรผสมผสาน และหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างมาอย่างยาวนาน





[๑] นพชัย แดงดีเลิศ, จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขรวิทยา ,วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๒.`หน้า๓๐-๓๑
[๒] ชูชีพ เบียดนอก, ชื่อภาษากับชนชาติบอกได้หรือว่าทวารวดีเป็น “มอญ”? , ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ย.๒๕๒๘)        หน้า๓๘.
[๓] ผาสุก อินทราวุธ,สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี, กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๘ หน้า ๘๕-๘๖
[๔] ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, “ทบทวนแนวทางการศึกษาชาติพันธุ์ข้ามยุคสมัยในสังคมไทย” ในว่าด้วยแนวทางการศึกษาชาติพันธุ์ (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิยาสิรินธร,๒๕๔๗)หน้า ๘ .
[๕] ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙-๑๑.
[๖] ธิดา สาระยา.ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เมืองโบราณ,๒๕๔๕ หน้า ๒๖-๒๗.
[๗] กรมศิลปากร, “จารึกวัดโพธิ์ร้าง” จารึกประเทศไทยเล่ม ๒ อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๒๑,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์,๒๕๒๙ หน้า ๒๗-๓๓.
[๘] กรมศิลปากร,เรื่องเดิม,หน้า ๓๓.
[๙] ปราณี วงษ์เทศ, “พิธีรำผีถวายเจ้าพ่อเจ้าแม่ของชาวมอญที่บ้านเว่ขราว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ”, ดำรงวิชาการ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ (กรกฎาคม-ธันวาคม) ๒๕๔๖.หน้า ๕๙-๖๔.


ที่มา: สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...