Blogger templates

3/27/2554

วัดพระธาตุจอมกิตติ

วัดพระธาตุจอมกิตติ




วัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่ หมู่บ้านดอนสักจอดกิตติ หมู่ที่ ๖ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนยอดดอยน้อย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 1.5 กิโลเมตร

ประวัติวัด
พระธาตุจอมกิตติ ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงแสน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าพังคราชเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้รับการบูรณะในสมัยของหมื่นเชียงสงโดยการสร้างเจดีย์ครอบทับองค์เดิมเมื่อปี พ.ศ.2030
จากตำนานและพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างพระธาตุจอมกิตติเอาไว้ว่า พระมหาเถระชาวโกศลนคร เมืองสุธรรมวดี ชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ นำพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองลังกามาถวายพระเจ้าพังคราช ต่อมาพระองค์พร้อมพระราชโอรสคือพระเจ้าพรหมกุมารจึงได้สร้างพระธาตุขึ้นบนดอยน้อย เมื่อ พ.ศ.1483 แล้วอัญเชิญพระธาตุที่ได้มาบรรจุไว้ โดยให้พระนามพระธาตุองค์นี้ว่า "พระธาตุจอมกิตติ"
ในปี พ.ศ.2030 หมื่นเชียงสงเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนได้ทำการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุขึ้นครั้งหนึ่ง จนกระทั่งในเวลาต่อมาพระธาตุชำรุดทรุดโทรมลง เจ้าฟ้าเฉลิมเมืองพร้อมกับคณะพระญาติและประชาชนได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุขึ้นใหม่อีกครั้งในราวปี พ.ศ.2237 ซึ่งคงปรากฏรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอย่างที่เห็นในปัจจุบันคือ เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างล้านนากับศิลปะอยุธยาตอนปลาย
พระธาตุเจดีย์ หรือบรมธาตุเจดีย์ มีลักษณะฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ย่อมุมเป็นเรือนธาตุ (ย่อมุมรองรับ) ซึ่งมีซุ้มทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปูนปั้นทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังกลม ส่วนตำนานการสร้างพระธาตุจอมกิตติค่อนข้างจะสับสนพอ ๆ กับตำนานเมืองเชียงแสน


ตำนานพระบรมธาตุ
ศิลาจารึกวัดพระธาตุจอมกิตติได้กล่าวไว้ว่า เมื่อตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่นี้ พระองค์ได้ทรงดึงพระเกศาและประดิษฐานไว้ที่พระธาตุจอมกิตติ แล้วพระองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า แว่นแคว้นแห่งนี้จะคงสืบพระพุทธศาสนาดำรงได้ครบ 5000 ปี บางตำนานบอกว่า เมืองเชียงแสนนั้นเกิดมาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพ และเคยเสด็จมายังเชียงแสน ประทานเส้นพระเกศาให้ไว้ จึงสร้างพระธาตุขึ้นมาเพื่อประดิษฐาน
ตำนานต่อมาที่ค่อนข้างจะแน่นอนกว่าคือการสร้างพระธาตุจอมกิตติโดยพระเจ้าพังคราช เมื่อปี พ.ศ. 1481 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระบรมธาตุมา โดยมีพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวมอญ ซึ่งหลังจากเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกาแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร (เชียงแสน) ตรงกับสมัยของพระเจ้าพังคราช ซึ่งยุคนี้พระเจ้าพรหมได้ทรงขับไล่ขอมไปสิ้นจากโยนกหมดแล้ว และพระเจ้าพรหมได้อัญเชิญพระเจ้าพังคราช ราชบิดากลับมาขึ้นครองเมืองเชียงแสน ส่วนพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ไปสร้างเมืองใหม่คือเมือง "ชัยปราการ" ที่ริมแม่น้ำกก เพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันการรุกรานของข้าศึก ซึ่งชัยปราการนี้จะเป็นเมืองหน้าด่านให้เชียงแสน จะสกัดการรุกรานของข้าศึกที่จะยกมาทางด้านทิศตะวันตกไว้ก่อน และได้ครองเมืองชัยปราการ
ดังนั้นเมื่อพระพุทธโฆษาจารย์ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ในเชียงแสน พร้อมกับได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วยจำนวนถึง 16 พระองค์ เป็นพระบรมอัฐิธาตุส่วนพระนลาต (หน้าผาก) มีหลายขนาด พระเจ้าพังคราชจึงได้แบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่ 1 องค์ ขนาดกลาง 2 องค์ และขนาดเล็กอีก 2 องค์ ให้กับพระยาเรือนแก้ว (เจ้าเมืองเชียงราย) ซึ่งได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ในเมืองเชียงราย ขอให้คำว่าหากจำไม่ผิดคือวัดจอมทอง
พระเจ้าพังคราช นำพระโกศเงิน พระโกศทอง และพระโกศแก้ว รองรับพระบรมธาตุแล้วจึงประทานแก่พระเจ้าพรหมมหาราช นำไปประดิษฐานไว้บนดอยน้อย หรือ จอมกิตติ ซึ่งตามตำนานดั้งเดิมบอกว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาในสมัยพุทธกาลนั้น ได้ประทานพระเกศธาตุ ประดิษฐานไว้แล้ว
พระเจ้าพรหมมหาราช ทรงใช้ช่างก่อพระเจดีย์ขึ้น กว้าง 3 วา สูง 6 วา 2 ศอก บนดอยจอมกิตติ พระเจดีย์แล้วเสร็จในเดือน 6 เพ็ญ วันจันทร์ พ.ศ. 1483 และเรียกพระเจดีย์องค์นี้ว่า พระธาตุจอมกิตติแต่ยังไม่มีวัดพระธาตุจอมกิตติ วัดนี้มาเริ่มเกิดใหม่ในปี พ.ศ. 2500 นี่เอง
ส่วนที่เชิงดอยพระธาตุก็ยังมีพระพุทธรูปสำคัญองค์ใหญ่คือ พระพุทธรูปองค์หลวง หรือหลวงพ่อพุทธองค์โยนกมิ่งมงคลเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในบริเวณบ่อน้ำทิพย์ สร้างขึ้นแทนพระเจ้าล้านตื้อที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง แต่เศียรงมขึ้นมาได้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เชียงแสน รวมทั้งปราสาทหลังเก่าที่เป็นสำนักสงฆ์ก็ยังคงอยู่ที่เชิงดอย ส่วนวัดพระธาตุจอมกิตตินั้นได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี รวมทั้งการบูรณะองค์พระธาตุด้วย
เมื่อวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2550 เวลา 15.57 น. เกิดแผ่นดินไหววัดความแรงได้ 5.8 ริกเตอร์ ศูนย์กลางชายแดนไทย-ลาว ห่างจากจังหวัดเชียงราย 57 กิโลเมตร ส่งผลให้ยอดฉัตรพระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หักโค่นลงมาได้รับความเสียหาย ทางวัดได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์เชียงแสน สิ่งของที่บรรจุในยอดปลีองค์พระธาตุ ซึ่งมีอัญมณี 9 ชนิด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานบรรจุในยอดฉัตรเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพบแล้ว 7 อย่าง สูญหายไป 2 อย่าง
ต่อมา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมฉัตรจากของเดิมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งได้เปลี่ยนก้านและแกนฉัตรเป็นสแตนเลส จากเดิมที่เป็นเหล็ก ซึ่งผุกร่อนเป็นสนิม ส่วนตัวฉัตรนั้น ช่างได้ทำให้เข้ารูปเดิม และเปลี่ยนวิธีห่อหุ้มทองคำ 99 เปอร์เซ็นต์ จากวิธีเปียกทองโบราณ มาใช้เทคโนโลยีใหม่วิธีฟอร์มทอง โดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวหล่อและหุ้ม ซึ่งทำให้ทองคำอยู่ติดคงทน และสีไม่หมอง ส่วนยอดฉัตรที่ประดับด้วยอัญมณีนพเก้า และมีอัญมณีหลุดหายไป 2 ชนิดนั้น ได้มีประชาชนบริจาคโกเมนและนิล ซึ่งช่างได้นำขึ้นไปประดับไว้ครบทั้ง 9 ชนิดแล้ว ส่วนองค์พระธาตุ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนโครงสร้างและฐานราก เสริมอิฐซ่อมแซมส่วนที่เสียหายและเสริมความมั่นคงรอยแตกร้าวด้วยกาววิทยาศาสตร์ (Epoxy) และอัดฉีดน้ำปูนเข้าไป
ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทรงประกอบพิธียกฉัตรประดับยอดพระธาตุกลับคืนดังเดิม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...