การเรียกและตั้งชื่อเมือง
การเรียกชื่อ “สระบุรี” นั้น สันนิษฐานว่า ตั้งชื่อตามทำเลที่อยู่ใกล้กัน คือ “บึงหนองโง้ง” เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงได้นำเอาคำว่า “สระ” มารวมเข้ากันกับคำว่า “บุรี” เป็นชื่อเมือง “สระบุรี” [1] ตามตำนานเชื่อกันว่าเป็นสระที่อยู่หลังวัดจันทบุรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้มีพระราชวิจารณ์เรื่องชื่อเมืองสระบุรีความว่า
“อนึ่ง เมืองสระบุรีนั้น ในพระราชกำหนดกฎหมายมาแต่โบราณก็เรียกแลเขียนว่าเมืองสระบุรี แต่เดี๋ยวนี้ใครเล่าเป็นอุตริอวดรู้บาลีบาลั่ม มาเรียกบ้าง เขียนบ้างว่า เมืองสุระบุรี “สุร” แปลว่าคนกล้าหรือกล้าอะไรกับลาว ในหลวงก็ไม่ได้ตั้งได้แปลง ใครเล่าอวดรู้อวดดีมาดัดแปลงชื่อบ้านชื่อเมือง ตั้งแต่นี้ไปห้ามอย่าให้ใครเรียกและเขียนใส่ตีนอุว่า สุระบุรี เป็นอันขาด ให้เรียกว่าสระบุรี และเขียนว่า เมืองสระบุรี อยู่ตามเดิมเทอญฯ”[2]
ชื่อเมืองสระบุรีมีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช (พุทธศักราช 2111 – 2112) เมื่อคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระไชยเชษฐาแห่งกรุงศรีศัตนาหุตยกกองทัพเมืองเวียงจันทร์ลงมาช่วยกรุงศรีอยุธยา เดินกองทัพเลียบลำน้ำป่าสักลงมา พระเจ้าหงสาวดีในพระมหาปุราชาคุมกองทัพไปคุมเพื่อคอยโจมตีอยู่ที่เมืองสระบุรี แล้วตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตแตกกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2112 เพราะนั้นจึงทำให้เข้าใจว่าเมืองสระบุรี น่าจะตั้งขึ้นก่อนพุทธศักราช 2112 แต่จะตั้งขึ้นปีใดนั้นก็ไม่สามารถจะหาหลักฐานได้[3]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น