Blogger templates

6/12/2553

ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จังหวัดเลย



ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์


จากหลักฐานการขุดค้นของเบยาร์ด ( Donn T. Bayard) บริเวณริมน้ำโขง เขตอำเภอเชียงคานในปี  พ.ศ. 2512 – 2517 ได้พบหลักฐานเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำมาจากหินกรวดแม่น้ำ (Pebbles) เป็นส่วนใหญ่ ชนิดของหินมีทั้งหินตะกอน หินอัคนีและหินแปร ลักษณะของเครื่องมือจะเป็นเครื่องขูด เครื่องมือตัดสับและสะเก็ดหิน เทคนิควิธีการกะเทาะก็มีทั้งแบบกะเทาะหน้าเดียวและแบบสองหน้า ลักษณะของเครื่องมือดังกล่าว มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมโฮบินเบียน ( Hobinhian Culture) พบที่เมืองฮัวบินห์ เวียดนาม ซึ่งเครื่องมือในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบกระจายทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ถ้ำผี แม่ฮ่องสอน, ถ้ำพระ ถ้ำไทยโยค ถ้ำหีบ กาญจนบุรี, มณฑลยูนนาน เสฉวน ประเทศจีน, ถ้ำบันดาลิน ประเทศพม่า, ถ้ำลังสะเบียน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น[1] จากการขุดค้นในครั้งนั้นทำให้สามารถประมาณอายุแหล่งโบราณคดีได้ที่ประมาณ 9,000 ปีมาแล้ว[2] โดยการเปรียบเทียบกับหลักฐานที่พบกับแหล่งที่กล่าวไปข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนโบราณรุ่นแรก ๆ ที่อาศัยอยู่แถบบริเวณลุ่มน้ำเลยและใกล้เคียงน่าจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมล่าสัตว์หรือสังคมก่อนการเกษตรกรรมที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชพันธ์เป็นอาหาร

นอกจากหลักฐานเครื่องมือหินขัดดังกล่าวแล้ว ในบริเวณนี้ยังปรากฏพบหลักฐานในยุดหลังลงมา เช่นเครื่องมือหินขัดกระจายอยู่ในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เกือบร้อยแห่ง ในท้องที่ตั้งแต่แถบอำเภอท่าลี่ ปากชม และอำเภอเชียงคานตอนเหนือ ต่อมาตามแนวที่ราบตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัดในบริเวณอำเภอเมืองเลยและวังสะพุง อายุโบราณวัตถุเทียบเคียงได้กับแหล่งโบราณคดีโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้

 หลังจากยุคเครื่องมือหินขัดลงมา พัฒนาการของชุมชนก็เข้าสู่ยุคเครื่องมือสัมฤทธิ์ พบเครื่องมือในลักษณะนี้จำนวนมาก เช่น ภูทองแดง ภูขุมทอง ภูขุมเงิน ในเขตบ้านนาน้ำมันที่เมืองเลยนั้น นักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีได้พบหลักฐานเศษภาชนะดินเผาลายปะ (ตรวจสอบอายุได้ประมาณ 1,200 ปี) และลายเชือกทาบ (ตรวจสอบอายุได้ประมาณ 2,000 ปี) ปะปนอยู่ในชั้นดินที่พบขี้แร่ทั้งเหล็กและทองแดง ทำให้เราได้ทราบว่าได้มีการขุดแร่ทั้งสองชนิดในบริเวณนี้มากว่าพันปีแล้ว[3]

หลักฐานทางโบราณคดีในยุคต่อมาที่พบในบริเวณจังหวัดเลยคือ แท่นหินสลัก หรือที่รู้จักในชื่อใบเสมาหิน ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในยุคทวาราวดี (ระหว่าง พ.ศ. 1200 – 1600) พบกระจายอยู่ชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำชีตลอดขึ้นมาจนถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในจังหวัดเลยได้พบใบเสมาลักษณะนี้ที่อำเภอวังสะพุง และในพื้นที่ตำบลทรายขาวห่างจากบริเวณที่พบใบเสมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยังมีร่องรอยกำแพงเมืองปรากฏอยู่ เชื่อกันว่าคือเมืองเซเลเลอวหรือเซไลตามตำนาน

มีหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาว่า ชาวโยนกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขตล้านนาต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"

ต่อมาบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย)

ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย (สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้ายในปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยาง ในที่สุดโดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง

ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลยมีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ. 116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ อำเภอนากอก(ปัจจุบันอยู่ประเทศลาว)[4]

เมื่อแรกตั้งเมืองเลยนั้น ได้มีการแต่งตั้งให้ “ท้าวศรีสงคราม(ท้าวคำแสน)” เป็นเจ้าเมืองเลย ตามหลักฐานปรากฏว่า จวนเจ้าเมืองหรือหอโฮงการ ได้สร้างขึ้นที่ฝั่งซ้ายของห้วยน้ำหนาน (ปัจจุบันเป็นบริเวณบ้านของเอกชนห่าง กม.0 ไปทางทิศตะวันออกตามถนนคีรีรัฐประมาณ 150 เมตร) เมื่อท้าวศรีสงครามถึงแก่มรณกรรม ตำแหน่งเจ้าเมืองจึงตกไปอยู่กับหลวงศรีสงคราม (ท้าวคำเหง้า) ผู้น้อง ก่อนจะส่งเจ้าเมืองจากส่วนกลางไปปกครองในปี พ.ศ. 2416[5]







[1] สุรินทร์ ภู่ขจร, มนุษยชาติที่เขื่อนน้ำโจน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2530,โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์,กรุงเทพ.
[2] Donn T. Bayard, The Pa Mong Archeology Survey programme, 1973 – 75,University of Otago, New Zealand.
[3] สุดารา สุจฉายาปาริชาติ เรืองวิเศษ, ก้าวแห่งอนาคตของเลยเมืองชนแดนริมฝั่งโขง,รู้จักจังหวัดเลย
[4] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดเลย (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย), 2544
[5] ประพนธ์ พลอยพุ่ม,ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเมืองเลย,เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ณ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย วิทยาลัยครูเลย วันที่ 22 – 24 ธันวาคม 2530


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...