Blogger templates

6/08/2553

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา
ความหมาย
           วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความสำคัญ
           วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส

ประวัติความเป็นมา
           ๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
                หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจ แสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับ วันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวก ของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
                ๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
                ๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
                ๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
                ๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า
           เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต และในโอกาสนี้พระพุทธเจ้า ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็น การประกาศหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา
           ๒. การถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
                พิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่าเกิดขึ้น ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะบูรณมี พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็น วันที่พระอรหันต์สาวกของ พระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
                การประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้ว จึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และ ภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับ
                การประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้างเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จออกเองบ้าง มิได้เสด็จออกเองบ้างเพราะมักเป็นเวลาที่ประสบกับเวลาเสด็จประพาสหัวเมืองบ่อย ๆ หากถูกคราวเสด็จไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง
                เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนด วันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ
           หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ หมายถึงหลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ณ วัดเวฬุวัน ในวันเพ็ญเดือน ๓ หลักธรรมแบ่ง ๓ ส่วน คือ หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ได้ดังนี้
หลักการ ๓
           ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ
               ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
               ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
               ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
           ๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
               การทำความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียน ผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม
               การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ
               การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
           ๓. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่
               ๑. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
               ๒. ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
               ๓. ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
               ๔. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) และ
               ๕. ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่
               วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศืลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง
               อุดมการณ์ ๔
               ๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ
               ๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
               ๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
               ๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘
               วิธีการ ๖
               ๑. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
               ๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
               ๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
               ๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
               ๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
               ๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี

วัตถุประสงค์
           ๑. เพื่อให้พระพุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชารวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์และแนวทางปฏิบัติ
           ๒. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันมาฆบูชาและสามารถเลือกสรรหลักธรรมโอวาทปาติโมกข์ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนและสังคม
           ๓. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันมาฆบูชา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์
           ๔. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธาซาบซึ้งและตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
           ๕. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และปฏิบัติตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง

ข้อเสนอแนะ
การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันมาฆบูชา


กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
           ๑. ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน
           ๒. ศึกษาเอกสาร หรือสนทนา เกี่ยวกับความสำคัญของวัน มาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์ และแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
           ๓. นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน
           ๔. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา
           ๕. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม



กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา
           ๑. ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
           ๒. ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์และแนวปฏิบัติในสถานศึกษา
           ๓.ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
           ๔. ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
           ๕. ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรมสนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา
           ๖. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน
           ๑. ทำความสะอาด บริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
           ๒. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา และหลักธรรมคือโอวาทปาติโมกข์ แนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
           ๓. จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม
           ๔. ร่วมกับบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
           ๕. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม
           ๖. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม
           ๑. วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์เรื่องวันมาฆบูชาโดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
           ๒. จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชารวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่างๆ
           ๓. เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ เวียนเทียน
           ๔. รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่างๆ ให้ลด ละ เลิกอบายมุขและให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด
           ๕. ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
           ๖.รณรงค์ให้มีการรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด ที่สาธารณะ
           ๗. จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้อยกรอง บทความเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
           ๘. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

ประโยชน์ที่จะได้รับ
           ๑. พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์และแนวทางปฏิบัติ
           ๒. พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันมาฆบูชา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์
           ๓. พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
           ๔. พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง

...............................................

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. วันสำคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย และแนวทางในการจัดกิจกรรม.โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...